ลองจินส์ เปิดตัวนาฬิกาโมเดลใหม่ที่มีความเที่ยงตรงสูงกว่าระดับโครโนมิเตอร์ในชื่อ LONGINES ULTRA-CHRONซึ่งแกว่งด้วยความถี่ 36’000ครั้งต่อชั่วโมงหรือ 10 ครั้งต่อวินาที กลไกที่มีความแม่นยำระดับสูงใหม่นี้การันตีถึงความเที่ยงตรงยิ่งขึ้นและสืบสานมรดกตกทอดในการผลิตระบบกลไกความถี่สูงของลองจินส์มาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนาฬิกา LonginesUltra-Chron Diver จากปี 1968 ที่ได้รับการปรับโฉมใหม่โดยสะท้อนถึงเอกลักษณ์งานดีไซน์ของรุ่นดั้งเดิมและประสิทธิภาพในการต้านทานต่อแรงกระแทก ขีดข่วน และแรงดันน้ำ
ในอดีตเมื่อปี 1968 ลองจินส์ได้เปิดตัว Ultra-Chron Diver นาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่มาพร้อมระบบกลไกความถี่สูง ในช่วงเวลานั้นลองจินส์ได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลองจินส์ได้สร้างสรรค์อุปกรณ์บอกเวลาที่มีความแม่นยำสูงซึ่งแกว่งด้วยความถี่สิบครั้งต่อวินาทีมาตั้งแต่ปี 1914 แล้วและต่อมาในปี 1959 ลองจินส์ก็ได้พัฒนานาฬิกาข้อมือที่ทำงานด้วยกลไกความถี่สูงเป็นเรือนแรกซึ่งได้การรับรองระดับโครโนมิเตอร์ โดยนับว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ในการเป็นผู้นำด้านความแม่นยำเลยก็ว่าได้ นาฬิกา Longines Ultra-Chron เรือนใหม่นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์รวมถึงองค์ประกอบของนาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพของโมเดลดั้งเดิมจากปี 1968มาพร้อมขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ทิศทางเดียวและฝาหลังตัวเรือนแบบขันเกลียงแน่น รวมถึงหน้าปัดที่อ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจนและการกันน้ำระดับ 30 บาร์ (300 เมตร) ตัวเรือนสตีลทรงคุชชั่นขนาด 43 มม. อันโดดเด่นของ Longines Ultra-Chron มาพร้อมขอบตัวเรือนสำหรับการดำน้ำที่กลมกลืนไปกับกระจกหน้าปัดแซปไฟร์และองค์ประกอบที่เคลือบสารเรืองแสง หน้าปัดสีดำลายเกรนเสริมด้วยวงนาทีสีขาวและบาตงเคลือบสาร Super-LumiNova® และตัวบอกเวลา (appliques)ชุบโรเดียม


นอกจากนี้บนหน้าปัดยังสลักโลโก้ของ Ultra-Chron รุ่นดั้งเดิมไว้รวมถึงฝาหลังตัวเรือนด้วยเช่นกัน เสริมความโดดเด่นด้วยเข็มนาทีสีแดงซึ่งเคลือบด้วยสาร Super-LumiNova® เพื่อช่วยในการอ่านค่าเวลาได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกับเข็มชั่วโมง หัวใจหลักของ Longines Ultra-Chron คือกลไกคาลิเบอร์ L836.6 ที่มีความแม่นยำระดับสูงซึ่งผลิตขึ้นเป็นพิเศษสำหรับลองจินส์เท่านั้น นาฬิกาจะได้รับคำจำกัดความว่า “มีความแม่นยำระดับสูง” ได้เมื่อบรรจุด้วยกลไกที่มีบาลานซ์สปริงที่แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง (10 ครั้งต่อวินาที) กลไกเหล่านี้ที่ลองจินส์เป็นผู้ผลิตขึ้นในปี 1914 (ความสามารถในการจับเวลาได้ละเอียดถึง 1/10วินาที) และปี1916 (ความสามารถในการจับเวลาได้ละเอียดถึง 1/100 วินาที) คือนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาการจับเวลาให้ดียิ่งขึ้น
และตั้งแต่ปี 1959 เป็นต้นมา ลองจินส์ได้นำระบบกลไกความถี่สูงมาใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับนาฬิกาของตนเอง กลไกความถี่สูงนี้มาพร้อมคุณสมบัติในการต้านทานแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหว โดยได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำที่สูงกว่า ความแม่นยำของ Longines Ultra-Chron ได้รับการการันตีในระดับ “Ultra Chronometer” โดย TIMELAB ซึ่งเป็นสถาบันอิสระที่ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวาโดยเป็นการระบุระดับความแม่นยำที่มากไปกว่า “Chronometer” แบบปกติ กระบวนการค้นหาคุณสมบัติ “Ultra Chronometer” คือการทดสอบองค์ประกอบการขับเคลื่อนกลไกของนาฬิกาและการประกอบเป็นตัวเรือนทั้งหมดเป็นเวลา15 วัน โดยในระหว่างนั้นจะมีการทดสอบในระดับอุณหภูมิแปรผัน 3 ระดับคือ 8 องศาเซลเซียส, 23 องศาเซลเซียสและ 38 องศาเซลเซียส ที่รับรองว่านาฬิกาเรือนนั้นมีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานความแม่นยำที่เคร่งครัดที่สุด (มาตรฐาน ISO3159: 2009) สายรัดข้อมือนาฬิกา Longines Ultra-Chron มีให้เลือกสรรด้วยกันสองแบบคือสายรัดข้อมือหนังหรือสายสตีล มาพร้อมกล่องสุดพิเศษที่บรรจุสายนาโตสีดำผลิตจากวัสดุรีไซเคิล แน่นอนว่า Longines Ultra-Chron เรือนใหม่นี้จะครองใจสาวกนาฬิกาผู้มีความหลงใหลในนาฬิการะดับไอคอนจากหนึ่งในยุคที่มีการผลิตนาฬิกาอันเปี่ยมด้วยนวัตกรรมมากที่สุดยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทั้งยังเป็นที่ถูกใจนักสะสมนาฬิกาที่พึงพอใจกับการสวมใสเรือนเวลาที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์บนข้อมือ
ประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาที่มีความแม่นยำระดับสูงโดยลองจินส์
นับเป็นเวลากว่า 100 ปีที่ลองจินส์ได้สั่งสมประสบการณ์การผลิตนาฬิกาที่มีความแม่นยำระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ลองจินส์ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญในการจับเวลาและในฐานะนาฬิกาสปอร์ต กลไกที่เดินด้วยความเร็วนี้สามารถแกว่งด้วยความถี่สูงถึง 1/10 หรือ 1/100 ต่อวินาที นอกจากนี้ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำในระดับสูงสุด และตลอดหลายปีที่ผ่านมา ลองจินส์ได้รังสรรค์นาฬิกาจับเวลาคุณภาพสูงออกมามากมายทั้งนาฬิกาโครโนกราฟและนาฬิกาที่ได้รับการรับรองระดับโครโนมิเตอร์
1914: นาฬิกาจับเวลาที่มาพร้อมกลไกความถี่สูงระดับ 5 Hz และเข็มวินาทีแบบแยกเข็ม[CAL. 19.73N]

ในปี1914 ลองจินส์ได้ใช้กลไกความถี่สูงระดับ1/10 ต่อวินาที บรรจุอยู่ในนาฬิกาจับเวลาแบบพกสำหรับการจับเวลาในการแข่งขันกีฬามากมาย ขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ 19.73Nพร้อมด้วยการแกว่งด้วยความถี่ 36,000ครั้งต่อชั่วโมง นาฬิกาโครโนกราฟนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในวงการกีฬา การทหาร และการแพทย์ โมเดลในภาพนี้มาพร้อมเข็มวินาทีแบบ split-secondซึ่งลองจินส์ได้เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในปี 1922และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านค่าเวลา1/10 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจึงหมุนรอบหน้าปัดใน30 วินาที ส่วนวงกลมหน้าปัดย่อย15 นาทีนั้นตั้งอยู่ตำแหน่งด้านบนใกล้กับ12 นาฬิกา
1916: นาฬิกาจับเวลาที่มาพร้อมกลไกความถี่สูงระดับ 5 Hz ที่จับเวลาละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาที [CAL. 19.73N]

ในปี 1916 ลองจินส์มีความสามารถในการผลิตกลไกที่จับเวลาได้ละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาทีกลไกได้รับการพัฒนาจากคาลิเบอร์ 19.73Nโดยนักวิศวกรจากแซงต์-อิมิเยร์ได้พัฒนาปรับปรุงความเร็วให้อยู่ที่ 360,000 ครั้งต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงสามารถจับเวลาได้ละเอียดสูงถึง 1/100 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจะหมุนรอบหน้าปัดในเวลาเพียง 3 วินาที มาตรวัดเส้นรอบวงของหน้าปัดถูกแบ่งออกเป็นสเต็ปเล็กๆ ของ 1/100 ต่อวินาที วงกลมหน้าปัดย่อยนาทีถูกวางที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และสามารถวัดได้สูงถึงสามนาที
1938: นาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งกีฬาสกี (5 Hz) พร้อมเข็มแบบ split-second [CAL. 24 LINES]

เมื่อการแข่งขันกีฬาเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นลองจินส์จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาหลากหลายโอกาส ในปี 1938 ลองจินส์ได้พัฒนากลไกที่มีความแม่นยำสูงขึ้นคือคาลิเบอร์ 24 lines นาฬิกาโครโนกราฟนี้ทำงานด้วยพื้นฐานของโครโนมิเตอร์การเดินเรือ (cal. 24.99)นาฬิกาจับเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาสกีดังในรูป (จากปี 1939) แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมงเพื่อจับเวลาอย่างละเอียดถึง 1/10 ต่อวินาที เข็มโครโนกราฟจะหมุนหนึ่งรอบใน 30 วินาที ซึ่งช่วยให้สามารถอ่านค่าเศษวินาทีได้ มาพร้อมเข็มแบบ split-second และการบันทึกค่า 30 นาที โดยนาฬิกาจับเวลาระดับมืออาชีพนี้ที่มาพร้อมปุ่ม pusher สามปุ่มได้รับการครอบตัวเรือนด้วยสตีล Staybrite กลไกได้รับการทดสอบในสามตำแหน่งและได้รับการชื่นชมจาก Observatory of Neuchâtelในฐานะนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูง หลังจากนั้น ลองจินส์ก็ได้ผลิตคาลิเบอร์ลักษณะนี้ออกมาอีกมากมาย
1957: นาฬิกาโครโนกราฟระดับความถี่สูงและเข็มแบบsplit-second เพื่อจับเวลา 1/10th ต่อวินาที [CAL. 260]

เพื่อเป็นการพัฒนาคาลิเบอร์ 24-line ของปี 1938 ลองจินส์จึงได้เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟที่มีขนาดเดียวกันออกมาในปี 1957 ซึ่งมาพร้อมวงกลมหน้าปัดย่อย 30 นาที และระบบการหยุดเวลา อุปกรณ์การจับเวลาระดับมืออาชีพนี้ยังมีเข็มนาทีและเข็มชั่วโมง แต่ยังคงสามารถจับเวลาที่ละเอียดสูงถึง 1/10 ต่อวินาทีได้ ซึ่งต้องยกความดีให้กับกลไกที่มีความถี่สูง (แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง) พร้อมด้วยฟังก์ชั่นflybackและเข็มแบบ split-second โมเดลดังรูปจากปี 1966 มีกลไกโครโนกราฟพิเศษพร้อมด้วยสเกลที่เรียกว่า nonius-scale โดยมีช่อง“ฟัน” 9 ตัวที่บ่งชี้การสิ้นสุดของเข็มนาฬิกา เมื่อเข็มนาฬิกาหยุดลง หนึ่งใน “ฟัน” นี้จะหยุดตรงกับหนึ่งในเส้นวินาทีรอบหน้าปัด ตัวเลขที่อยู่บนฐานของ “ฟัน” คือการบ่งบอก 1/10 ต่อวินาที
1959:นาฬิกาข้อมือความถี่สูงเรือนแรกระดับ Observatory Chronometer [CAL. 360]

ในช่วงปี 1950 ลองจินส์เชื่อว่าในยุคนั้นจำเป็นต้องเพิ่มการพัฒนาในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในโลกนาฬิกาที่มีการแข่งขันสูงเอาไว้ จากภาพวาดต้นแบบของเดือนสิงหาคม ปี 1958 ลองจินส์ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือความถี่สูงเรือนแรกออกมาในปี 1959 ด้วยกลไกคาลิเบอร์ 360 แกว่งด้วยความถี่ 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง ผลิตขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วยมือและได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อการแข่งขัน Observatory Chronometer Competitionsเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านกลไกถูกแสดงออกมาให้เห็นด้วยนาฬิกาสองร้อยเรือนจากปี 1959-1963 นาฬิกาหน้าปัดสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรือนนี้ได้รับการพัฒนาในด้านความแม่นยำ และได้รับรางวัลที่หนึ่งและที่สองในการประกวดความแม่นยำที่ Observatory of Neuchâtel ในปี 1961 และในปีถัดมาได้รับรางวัลที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม ค่าคาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 1/10 ต่อวินาทีหรือน้อยกว่า
1966: Ultra-Chronนาฬิกาข้อมือที่แกว่งด้วยความถี่สูง[CAL. 431]

ในช่วงปี 1960s วิศวกรของลองจินส์ ได้พัฒนากลไกที่เข้าคู่กับความแม่นยำของนาฬิกาอิเล็กทรอนิกเรือนใหม่ ด้วยประสบการณ์ของพวกเขาในการผลิตนาฬิกาจับเวลาและการทำงานใน Observatory Chronometersจึงทำให้พวกเขารู้ว่านาฬิกาความถี่สูงนั้นมีความเที่ยงตรงมากขึ้นในตำแหน่งแนวตั้งและแนวนอน และกำลังเครื่องตกน้อยลงเมื่อข้ามวัน จึงทำให้นาฬิกามีความแม่นยำมากกว่า ทว่าข้อเสียคือกำลังลานสำรองที่น้อยกว่าและปัญหาการหล่อลื่น ลองจินส์ค้นพบการแก้ไขปัญหาในคาลิเบอร์ 431 (ด้วยการหล่อลื่นแบบแห้งที่ได้รับการจดสิทธิบัตร) และสามารถการันตีความแม่นยำสูงเพียงหนึ่งนาทีต่อเดือนหรือสองวินาทีต่อวัน เนื่องจากมีความแม่นยำมากกว่ากลไกระดับโครโนมิเตอร์ที่ได้รับการรับรองโดย COSC โมเดลนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า Ultra-Chron ลองจินส์ได้จดทะเบียนชื่อนี้ในเดือนตุลาคม ปี 1966 และนาฬิกา Ultra-Chron เรือนแรกๆ ถูกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม ปี 1966
1968: Ultra-Chron Diverนาฬิกาความถี่สูงเรือนแรกที่ทำงานใต้น้ำ [CAL. 431]

ในปี 1967 ลองจินส์เปิดตัวนาฬิกา Ultra-Chron เวอร์ชั่นสปอร์ต ซึ่งเป็นนาฬิกาดำน้ำที่มาพร้อมเข็มนาทีสีแดงสดและคุณสมบัติการกันน้ำถึง 200 เมตร ในช่วงต้นของปี 1968 นาฬิกาเรือนนี้คือนาฬิกาดำน้ำเรือนแรกที่เดินด้วยความถี่สูงและอาจเรียกได้ว่ามีความแม่นยำสูงสุด โดยทำงานด้วยกลไกพิเศษคาลิเบอร์ 431 เช่นเดียวกับนาฬิกา Ultra-Chron เรือนอื่นๆ ลองจินส์การันตีความแม่นยำระดับสูงถึงหนึ่งนาทีต่อเดือน ซึ่งเฉลี่ยได้เป็นสองวินาทีต่อวัน ตัวเรือนทรง tonneauนี้มาพร้อมการบอกวันที่ และขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ ซึ่งช่วยให้นักดำน้ำสามารถกำหนดเวลาในการอยู่ใต้น้ำได้ เพื่อยืนยันในความแม่นยำ แม้ภายใต้น้ำที่ขุ่นมัว อินเด็กซ์บนหน้าปัด สัญลักษณ์สามเหลี่ยมบนขอบตัวเรือน หรือแม้แต่ปลายเข็มวินาที (ของซีรีส์แรก) จึงถึงแต้มด้วย tritium
การจับเวลาให้การแข่งขันกีฬาด้วยอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำระดับสูงโดยลองจินส์
ด้วยอุปกรณ์บอกเวลาที่มีความแม่นยำระดับสูง ลองจินส์จึงได้รับเชิญให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการให้กับการแข่งขันกีฬาที่สำคัญที่สุดทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้ เกียรติภูมิอันน่าภาคภูมิใจนี้ได้ขับเคลื่อนให้ลองจินส์พัฒนานาฬิกาที่มีความแม่นยำและเที่ยงตรง รวมทั้งอุปกรณ์บอกเวลาที่ดียิ่งขึ้น
กีฬาขี่ม้า

ในอดีตที่ยาวนานในปี 1878 ลองจินส์ได้พัฒนากลไกโครโนกราฟออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่นานได้ถูกนำไปบรรจุในตัวเรือนที่สลักสัญลักษณ์นักขี่ม้าและม้าของเขา จะเห็นนาฬิกาจับเวลาเหล่านี้ในการแข่งขันขี่ม้าของชาวอเมริกันในช่วงปี 1880 ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอุปกรณ์การจับเวลาที่เป็นที่นิยมในหมู่นักขี่ม้ารวมถึงผู้ที่มาร่วมชมการแข่งขัน ในปี 1912 ก้าวสำคัญครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อลองจินส์ได้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์อย่างเป็นทางการให้กับการแข่ง show jumping ในลิสบอน โปรตุเกส และตลอดหลายปี ลองจินส์ก็ได้เป็นผู้จำเวลาให้กับการแข่งขันกีฬาขี่ม้ามามากกว่าพันครั้ง สำหรับการแข่งขันที่ผู้เข้าแข่งขันต้องอยู่ใกล้ชิดกัน ลองจินส์ได้ผลิตนาฬิกาจับเวลาโดยมีเข็มแบบ split-hand และกลไกที่แม่นยำสูงถึง 1/10 ต่อวินาทีหรือ 1/100 ต่อวินาที ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาที่สืบทอดมา ความผูกพันของลองจินส์ที่มีต่อกีฬาขี่ม้าในปัจจุบันจึงรวมถึง show jumping, dressageและ flat racing
การแข่งกีฬาสกีบนเทือกเขาแอลป์

การไถสกีจากบนเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของลองจินส์ ในปี 1924 ลองจินส์ได้รับโอกาสในการจับเวลาให้กับ “International Week of Winter Sports”ในเมือง Chamonix ประเทศฝรั่งเศส หลายปีหลังจากนั้น นาฬิกาจับเวลาจากลองจินส์ได้จับเวลาให้กับงาน World Ski Championships ซึ่งจัดขึ้นในเมืองเดียวกันนั้น ในปี 1939 ลองจินส์ได้เปิดตัวนาฬิกาจับเวลาสำหรับการเล่นสกี ด้วยกลไกความถี่สูงและเข็ม split-second ที่วัดได้ 1/10 ครั้งต่อวินาที สำหรับ Military Ski Championships ในCrans-Montana (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ที่จัดขึ้นในปี 1945 ลองจินส์ได้นำเสนอการใช้photocell light barrierที่จุดเส้นชัย ต่อมาในปี 1948 ลองจินส์ได้รับเลือกให้เป็นผู้จับเวลาของการแข่งขัน Kandahardownhill race ในเมือง Sankt Anton ประเทศออสเตรีย อีกทั้งผู้จัดงาน Ski World Championships of 1950 ใน Aspen สหรัฐอเมริกายังได้เลือกลองจินส์ให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการอีกด้วย ปัจจุบันนี้ ลองจินส์คือพาร์ทเนอร์และผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของ FIS Alpine Ski World Cup Tour และ FIS AlpineWorld Ski Championshipsอีกทั้งยังเดินหน้าเป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งขันสกีที่โด่งดังที่สุดใน FIS Alpine Ski World Cup รวมถึงงานอื่นๆ อย่างการแข่งสกีภูเขาในKitzbühel (ประเทศออสเตรีย) หรือในLauberhorn-Wengen (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์)
การแข่งขันแรลลี่ระดับโลก

ในเดือนมกราคม 1949 รถยนต์จากทั่วยุโรปได้เข้าร่วมในการแข่งขันแรลลี่ครั้งแรกของ Rallye Monte-Carloที่จัดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลองจินส์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จับเวลาซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการจับเวลามานานกว่า 30 ปี ในปี 1955 ลองจินส์ได้เปิดตัวอุปกรณ์การพิมพ์พิเศษที่เรียกว่าPrintoginesขับเคลื่อนด้วยนาฬิกาที่กำลังลานสำรองนาน 8 วัน ซึ่งทำให้ผู้เข้าแข่งขันสามารถตอกบัตรของตนเองที่จัดเช็คพอยต์ที่ห่างกันถึง 5,000 กิโลเมตร ความแม่นยำและแข็งแรงทนทานของอุปกรณ์ชนิดนี้สามารถบันทึกเวลาที่ชนะในการแข่งขันจากเส้นทางที่ผ่านเช็คพอยต์ทั้งหมด นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์อย่างมากจนทำให้ลองจินส์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งแรลลี่ชื่อดังมากมายในยุคนั้น ซึ่งรวมถึง Coupe des Alpes, the RAC Rally of Great Britain, TAP Rally ในโปรตุเกส และ Thousand Lakes ในฟินแลนด์ รวมถึง Rallye Acropolis ในกรีซและ Rallye de Côte d’Ivoire ในแอฟริกา
การแข่งขันจักรยาน

ในปี 1951 ลองจินส์ได้รับเชิญให้เป็นผู้จับเวลาของการแข่งขันจักรยานระดับโลกอย่าง Tour de France การแข่งปั่นจักรยานทั่วประเทศฝรั่งเศสคือโอกาสอันยอดเยี่ยมในการทดลองระบบใหม่ที่ผสมผสานกล้องที่เส้นชัยพร้อมด้วยอุปกรณ์การบันทึกเวลาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนบนฟิล์ม ระบบการจับเวลาแบบนี้ช่วยแก้ปัญหาการถ่ายภาพเมื่อกลุ่มผู้เข้าแข่งขันมาอยู่ใกล้กันที่บริเวณเส้นชัยในเวลาไล่เลี่ยกัน Jean Pitallier อดีตประธานแห่ง French Cycling Federation จับเวลาการแข่งด้วยตัวเองในทุกการแข่งของ Tour de France ตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1980 ด้วยนาฬิกาจับเวลา split-second ความถี่สูงของลองจินส์(ref. 7411)จำนวนสองเรือน ลองจินส์ได้รับหน้าที่เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการจนถึงปี 1982 แต่การผูกพันกับโลกการแข่งขันจักรยานของลองจินส์ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น จากปี 1954 ถึง 1988 ลองจินส์ได้เป็นผู้จับเวลาให้กับการแข่งจักรยานระดับโลกถึง 28 ครั้งรวมถึงการแข่งชื่อดังอย่าง Giro d’Italiaหรือ Vueltaในสเปน
การแข่งขันรถแข่งFormula 1
ในปี 1949 ลองจินส์ได้เปิดตัวระบบการจับเวลาสำหรับการแข่งรถที่สามารถบันทึกความเร็ว 1/10 ครั้งต่อวินาทีผ่านทางชุดภาพถ่าย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการบอกเวลาที่แม่นยำจนกระทั่ง International Automobile Federationได้รับรองวิธีนี้ในปี 1950 ในปีเดียวกันนั้นในฤดูการแข่งครั้งแรกของ Formula 1 ลองจินส์ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จับเวลาของ Grand Prix de Monaco และ Indianapolis 500 ในสหรัฐอเมริกา รวมถึง Formula 1 ในBarcelona สเปน, Buenos Aires อาร์เจนติน่า, Spa เบลเยี่ยม , Zandvoort เนเธอร์แลนด์ และ Bern สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยการแข่งขันอีกมากมายในปีต่อๆ มา ภายในปี 1954 ลองจินส์ได้พัฒนา Chronotypoginesที่ใช้ระบบเซนเซอร์แบบอัตโนมัติที่จุดสตาร์ทและจุดเส้นชัย ไม่นาน International Automobile Federation ก็ได้นำระบบนี้ไปใช้ ในปี 1980 ลองจินส์เปิดตัว (พร้อมกับ Olivetti) วิธีใหม่ในการจับเวลารถแข่งแต่ละคันแยกออกจากกันโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งนำไปสู่บทบาทของลองจินส์ในฐานะผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการให้กับการแข่ง Formula 1 นับตั้งแต่ปี 1982 ถึง 1992

ลองจินส์แบรนด์นาฬิการะดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก่อตั้งขึ้นที่เมืองแซงต์อิมิเยร์เมื่อปีค.ศ. 1832 เชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาที่มีดีไซน์สง่างาม และการทำงานทรงประสิทธิภาพที่สืบทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตลองจินส์ได้รับเลือกให้เป็นผู้จับเวลาการแข่งขันกีฬาระดับโลกมากมาย รวมถึงเป็นพันธมิตรกับสมาพันธ์กีฬานานาชาติทำให้ชื่อของลองจินส์เป็นส่วนหนึ่งของโลกกีฬามาโดยตลอด นอกจากนี้ลองจินส์เจ้าของโลโกรูปนาฬิกาทรายติดปีกยังเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทสวอทช์กรุ๊ปซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำระดับโลกและยังวางจำหน่ายในประเทศต่างๆทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ